3 สิ่งที่ไทยต้องเริ่มทำตอนนี้เพื่อรับมือกับ Climate change

Gain
2 min readJan 7, 2024

--

ปี 2023 เป็นปีที่คนไทยตระหนักถึงผลกระทบจาก Climate Change เป็นอย่างมาก หลายสื่อเริ่มให้ความสนใจ และประชาชนก็เริ่มรับรู้ถึงผลกระทบจากความเสียหายต่างๆ ประเทศไทยเป็นประเทศที่เคยได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก และมีแนวโน้มว่าภัยในอนาคตจะยิ่งทวีคูณ การปรับตัวในการอยู่ร่วมกับสภาพภูมิอากาศและอากาศที่แปรปรวนในอนาคตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และนี้คือ 3 สิ่งที่ไทยควรจะเริ่มทำตอนนี้ เพื่อปรับตัวและลดความเสียหายที่กำลังเกิดขึ้นจะเกิดขึ้นในอนาคตจาก Climate Change

จำนวนภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จาก https://climatedata.imf.org/

1. ระบบแจ้งเตือนล่วงหน้า (Early warning system)— พูดกันมาไม่รู้กี่รอบกี่รัฐบาล แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครทำสำเร็จ

  • หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องมี SOP กับ KPI ที่ชัดเจนและเผยแพร่ต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น กรมอุตุนิยมวิทยา, สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, หรือ กสทช ต้องมีโครงสร้างการทำงานร่วมกันที่ชัดเจน 24/7 และรับผิดชอบในกรณีที่ไม่สามารถทำงานตามขอบเขตและหน้าที่ของตัวเองที่ตกลงกันไว้ ถ้าหากการทำงานข้ามหน่วยงานกันเป็นอุปสรรคหรือทับซ้อน ก็ควรจะตั้งหน่วยงานใหม่ที่รวมศูนย์เพื่อการแจ้งเตือนโดยเฉพาะ
  • ทุกภัยพิบัตที่เกิดขึ้น จะต้องมีการจดบันทึกและเผยแพร่เวลาการทำงาน การแจ้งเตือน รวมไปถึงเวลาตัดสินใจที่ชัดเจน เพื่อที่จะสามารถนำไปพัฒนาและแก้ไขการทำงานในครั้งถัดไปให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น KPI ควรจะเป็นการแจ้งเตือนที่ถูกต้องและแม่นยำตามพื้นที่ และสามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ทันท่วงทีให้ประชาชนมีเวลาได้เตรียมตัว (อย่างน้อย 2–3 วัน)
  • แผนที่และโมเดลในการแจ้งเตือนจะต้องทำด้วยความละเอียดสูง (high resolution) กรมอุตุมีโมเดลพยากรณ์อากาศความละเอียดสูงถึง 1–2 กม. แต่ปัจจุบันกลับแจ้งเตือนแค่ในระดับจังหวัด/ภูมิภาค ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพราะพื้นที่นั้นใหญ่เกินไปและไม่เจาะจงพอ ปัจจุบันแผนที่ความสูง public ทั่วโลกมีความละเอียดถึง 30m เช่น Copernicus DEM ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการรันโมเดลน้ำท่วมและภัยพิบัติอื่นๆได้อย่างเจาะจง และหลายหน่วยงานในไทยก็ได้มีการจัดซื้อ High Performance Computing และมีความสามารถในการรันโมเดลเหล่านี้อยู่แล้ว การแจ้งเตือนไม่ควรจะบอกแค่ว่าจังหวัดไหนฝนจะตกหนัก แต่ควรจะบอกถึงระดับตำบล/หมู่บ้าน/พื้นที่ ว่าที่ไหนมีโอกาสเสี่ยงน้ำท่วมที่มีความรุนแรงระดับใด และแจ้งเตือนไปยังกลุ่มเป้าหมายแบบเจาะจง
  • เชื่อมต่อกับ Emergency Alert ของ Apple และ Android — ปัจจุบันไทยมีแผนที่เสี่ยง/การแจ้งเตือนจากหลายหน่วยงาน แต่ไม่มี Product ของหน่วยงานไหนเลยที่แจ้งเตือนถึงประชาชน มีความพยายามของกสทช.ที่จะส่ง SMS แจ้งเตือน แต่ก็ไม่ต่อเนื่องและเหมือนจะไม่ทำงานอีกต่อไปแล้ว การเชื่อมต่อกับระบบของ Apple และ Android จึงเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด ถูกที่สุด และเข้าถึงประชาชนมากที่สุด ปัจจุบัน Apple weather app ก็ได้มีความพยายามในการใช้ public API ของกรมอุตุ แต่ความถี่ในการอัพเดทกับพื้นที่ในการแจ้งเตือนก็ยังไม่ละเอีดยและรวดเร็วเพียงพอ รวมไปถึงยังมีการสื่อสารที่ผิดพลาดเช่น ค.ศ. พ.ศ. ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ไม่สอดคล้องกัน
  • ซ้อมแจ้งเตือนทุกปีปีละหนึ่งครั้ง — ถ้าหากไม่มีการซักซ้อมก็ไม่มีทางที่จะรู้ว่าระบบนั้นรันได้จริงๆ การซ้อมแจ้งเตือนและส่ง alert ทดสอบไปยังประชาชนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและหลายประเทศทำอยู่เป็นประจำ ซึ่งการแจ้งเตือนควรจะมาจากหน่วยงานกลางส่งไปหาทุกคน ส่วนการซักซ้อมนี้ควรจะทำทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชน เมื่อเกิดเหตุการณ์ระดับใดจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ศูนย์อพยพอยู่ที่ไหน เส้นทางการเดินทางเป็นอย่างไร การซ้อมเหล่านี้จะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติได้มหาศาล

2. แผนที่ความเสี่ยงสาธารณะความละเอียดสูง (National Risk Index Map)

  • จัดทำแผนที่ความเสี่ยงภัยพิบัติต่างๆความละเอียดสูงและเผยแพร่เป็นสาธารณะให้กับประชาชน รวมไปถึง methodology, dataset, และแหล่งที่มาของข้อมูล แผนที่ความเสี่ยงนี้จะช่วยให้ประชาชนและรัฐบาลสามารถวางแผนความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สินของตัวเองได้ และทำให้ลดความความเสียหายโดยรวมที่จะเกิดขึ้นจากภัยพิบัติ ในอดีตไทยมีการจัดทำแผนที่ความเสี่ยงจากหลายหน่วยงานรัฐแต่ยังไม่มีแผนที่ใดที่มีความละเอียดสูง (ระดับ asset level) และสามารถนำไปใช้งานได้จริงแบบครอบคลุมทั้งประเทศ
  • จัดทำรายงานเมิณความเสี่ยง โดยใช้ข้อมูลจากแผนที่ความเสี่ยง ประกอบกับข้อมูลอื่นๆและอัพเดททุกปี รายงานควรจะมุ่งเน้นไปที่การเมินความเสี่ยงโดยรวมทั้งประเทศ การประเมินความเสี่ยงเฉพาะพื้นที่ การรับรู้ของประชาชน และแผนการในการปรับตัวกับความเสี่ยงปัจจุบันและอนาคต
  • ความเสี่ยง (risk) เกิดจาก 3 ตัวแปร คือ Hazard x Exposure x Vulnerability ซึ่งทั้งสามส่วนนี้ปัจจุบันสามารถคำนวนได้อย่างชัดเจน แผนที่ความเสี่ยงสาธารณะควรจะเผยแพร่:
    - แผนที่ความเสี่ยงของแต่ละภัยพิบัติ (hazard) ตาม SSP scenarios และ year timestep ไปจนถึง 2100
    - แผนที่ความเสี่ยงรวม (combined risk)
    - แผนที่ของ exposure และ vulnerability
  • ุตัวอย่างแผนที่ความเสี่ยง: FEMA National Risk Index, The U.S. Climate Vulnerability Index, London Climate Risk Mapping, Southeast Asia Infrastructure Risk Prototype
The U.S. Climate Vulnerability Index (ซ้าย), FEMA National Risk Index (ขวา)

3. นโยบายและแผนรับมือกับ Climate Change แบบรอบด้าน

  • รัฐจำเป็นจะต้องวางแผนรับมือกับสภาพภูมิอากาศในอนาคตแบบรอบด้าน โดยใช้ แผนที่ความเสี่ยงในข้อ 2 และนำไปปรับใช้ และวางแผนกับนโยบายในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นในด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การจัดสรรงบประมาณและทรัพยากร การวางแผนทางด้านเศรษฐกิจ (เช่น ส่งออก, ท่องเที่ยว, เกษตร, พลังงาน) รวมไปถึงนโยบายที่ส่งเสริมการปรับตัว/การลดความเสียหายจากภัยพิบัติ (mitigation incentive)
  • กฎหมายต่างๆจำเป็นจะต้องถูกปรับเพื่อให้หน่วยงานทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
    - เพื่อการแจ้งเตือนล่วงหน้าในข้อ 1, การทำแผนที่ความเสี่ยงในข้อ 2 และ การนำข้อมูลความเสี่ยงไปใช้ในการดำเนินการและตัดสินใจ
    - นอกจากนั้น กฎหมายสิ่งปลูกสร้างและอาคารต่างๆจำเป็นจะต้องอ้างอิงมาตรฐานตามพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ เช่น มาตรฐานบ้านเรือน/อาคารในพื้นที่เสี่ยง
    - กฎหมายระดับท้องถิ่น/ภูมิภาค/ส่วนกลางในการจัดการภัยพิบัติระยะสั้น/กลาง/ยาว และความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป รวมไปถึงกลไกในการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายที่ชัดเจน และกลไกในการลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  • แบงค์ชาติจำเป็นต้องเร่งรัดการส่งเสริม/บังคับใช้มาตรฐาน TCFD/IFRS climate risk disclosure และทำ stress test เศรษฐกิจระดับมหภาค เพื่อให้ภาคเอกชน/รัฐบาลเตรียมความพร้อม/มีแผนในการรับมือกับ climate change และเศรษฐกิจโดยรวมสามารถดำเนินต่อไปได้ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติร้ายแรง โดยมีเป้าหมายคือการลดความเสียหายจากภัยพิบัติให้ได้มากที่สุดก่อนที่ภัยพิบัติจะเกิดขึ้น

--

--